เมื่อหลายเดือนก่อนยุ้ยกับนุชได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงานสัมมนาในหัวข้อเทคนิคการบริหารเงินให้ก่อเกิดประสิทธิผลมากที่สุด มีหลายประเด็นที่น่าสนใจที่วิทยากรหยิบยกมาบรรยายให้ฟัง จึงอยากแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันเผื่อเป็นประโยชน์สำหรับการใช้และการออมเงินเพื่ออนาคต ตามมาเลยค่ะ
แหล่งรายได้ทั้งสี่ของมนุษย์
การสร้างรายได้ของมนุษย์อย่างเรา ๆ นั้น คุณโรเบิร์ท คิโยซากิ เจ้าพ่อทางด้านการเงินผู้แต่งหนังสือ Rich Dad, Poor Dad พ่อรวยสอนลูกจนโด่งดังไปทั่วโลก ได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 : Employer หรือ ลูกจ้าง
ลูกจ้างในที่นี้ ก็คือ มนุษย์เงินเดือนนี่เองอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เนี่ยแหละค่ะ ทำงานให้แก่องค์กรตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และ ได้รับเงินรายวัน รายเดือน หรือ ตามสัญญาจ้างงาน วันจันทร์ยิ้มเศร้า ๆ พอถึงวันศุกร์ก็หน้าบานเป็นจานเชิง อิอิ ^^
กลุ่มที่ 2 : Self Employed หรือ คนที่เป็นนายตัวเอง
คนที่เป็นนายตัวเอง อาจหมายรวมถึง เจ้าของกิจการที่ยังมีความจำเป็นต้องทำงาน เช่น คุณหมอเปิดคลินิคพิเศษ ไม่ได้ทำงานที่โรงพยาบาลในฐานะลูกจ้างอีกต่อไป แต่ยังต้องทำหน้าที่ตรวจรักษาคนไข้ในคลีนิคของตนเอง หรือ จะเป็นพวก Freelancer ที่รับงานเป็นโปรเจกต์ ๆ โดยที่ตัวเองยังต้องทำงานอยู่นะคะ
กลุ่มที่ 3 : Business Owner หรือ เจ้าของกิจการ
คนกลุ่มนี้อาจจะเป็นพวกเถ้าแก่ เจ้าของกิจการที่วางรากฐานวางระบบไว้เรียบร้อย ถึงแม้ตัวเองไม่ได้ทำงาน องค์กรก็สามารถดำเนินกิจการต่อได้ มีลูกจ้างมาทำงานจนก่อเกิดผลกำไรให้แก่บริษัท (ถ้ามองภาพไม่ออก อาจจะลองนึกถึงเจ้าของกิจการระดับEnterpriseที่ไม่ต้องมาคุมบังเหียน แต่ก็มีระบบ และ เม็ดเงินไหลเข้ามาไม่ขาดสาย)
กลุ่มที่ 4 : Investor หรือ นักลงทุน
คนกลุ่มนี้ใช้เงินทำงาน เพื่อให้เกิดดอกออกผล ไม่จำเป็นต้องมีกิจการ เป็นอิสระทางการเงิน เวลามีคนมานำเสนอโปรเจกต์ ถ้าดูมีความเป็นไปได้สูงก็ตกลงลงทุน ร่วมหุ้นด้วย ใช้เงินต่อเงินไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงพอสมควรในการใช้เงินลงทุนเพราะอาจจะขาดทุนหรือกำไรได้ตามสภาวะการณ์
กลยุทธ์การบริหารเงินแบบ 6 โอ่งทองคำ
ไม่ว่ารายได้หลักของเราจะมาจากทางไหน มาดูกันว่า ในแต่ละเดือน เราควรจะมีการจัดสรรเงินอย่างไรบ้าง เพื่อสร้างสมดุลให้แก่ชีวิต กับกลยุทธ์การบริหารเงินแบบ 6 โอ่งทองคำ (6 Jars of Money Management) ขออธิบายเป็นภาพง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
เงินจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน Necessity Account (NEC – 55%)
เงินส่วนนี้หมายรวมถึงรายจ่ายประจำวันในการดำรงชีวิต ค่าอาหาร เสื้อผ้า ของใช้ภายในครัวเรือน รวมทั้งการผ่อนสินค้ารายเดือน เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ลองคำนวณดูนะคะ ว่ารายได้ที่คุณรับเข้ามา คุณใช้ตรงนี้ไปกี่เปอร์เซนต์ ถ้าเกินจากนี้อาจจะต้องลองวางแผนกันดูใหม่ จริงอยู่ว่าเราไม่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ใน3วัน7วัน แต่เราต้องลองสร้างสัจจะวาจาให้ตัวเอง เช่น ภายใน3เดือนต่อจากนี้ฉันละประหยัดค่าใช้จ่ายXXX เพื่อควบคุม%การใช้จ่ายให้ไม่เกินจากนี้
เงินสำหรับการลงทุน Financial Freedom Account (FFA – 10%)
เราควรมีการจัดสรรเงินเย็น (เงินเย็นแปลตรงตัวแบบกำปั้นทุบดิน ก็คือ เงินที่ไม่ร้อน .. แล้วเงินที่ไม่ร้อนมันเป็นอย่างไรเหรอ ก็คือ เงินที่มีเก็บไว้ ไม่ได้ใช้ ไม่ได้กู้ยืมใครมา แม้จะต้องขาดทุนจากการลงทุนนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไม่ได้ทำให้เราติดหนี้สินใคร) ไว้สำหรับการลงทุนเพื่อให้เกิดผลงอกเงย อาจจะทำในรูปแบบประกันชีวิต การซื้อหุ้น และการลงทุนในด้านต่าง ๆ ค่ะ
เงินสำหรับการศึกษา Education Account (EDU – 10%)
การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นเหตุผลที่ดีในการใช้เงิน เพื่อสร้างเสริม เพิ่มเติม ความรู้ ทักษะ ความชำนาญในตัวคุณ นำไปสู่ความก้าวหน้าในสายอาชีพและทางด้านการเงิน และในสมัยนี้ ลองมองไปรอบ ๆ ตัวเรา ต่างก็พยายามเรียนให้สูงที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้ตัวเอง ดังนั้น หากคุณคิดที่จะเรียนต่อในไม่ช้า เงินก้อนนี้จำเป็นมากค่ะ
เงินสำหรับการออมระยะยาว Long Term Saving for Spending Account (LTSS – 10%)
เงินก้อนนี้ออมไว้เผื่อเราซื้อของชิ้นใหญ่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง เช่น โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ Gadget นาฬิกายี่ห้อแพง ๆ สักเรือน หรือการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศครั้งใหญ่ จงจำไว้ว่า เงินก้อนนี้มีไว้ใช้จ่าย เพื่อซื้อของขวัญชิ้นโต ๆ ให้ตัวเองที่มีความอุตสาหะ มานะพยายามทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย
เงินสำหรับสร้างความบันเทิงเริงใจให้ชีวิต Play Account (PLAY – 10%)
คุณควรที่จะมีโลกแห่งความบันเทิงเริงใจ ไปปาร์ตี้ ทานอาหาร พบปะเพื่อนฝูงหลังเลิกงาน หรือจะเดินทางท่องเที่ยวทริปเล็ก ๆ รายเดือน ใช้ชีวิตให้สนุกในวันหยุดพักผ่อน ทำอย่างไรก็ได้ที่จะใช้เงินส่วนนี้เพื่อสร้างสีสันและความสุขใจให้ชีวิต เพราะการทำงานที่เคร่งครัดตลอดเวลา การทานอาหารกล่องแบบเร่งรีบที่อุ่นจากเตาไมโครเวฟ หรือ การไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ล้วนก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมาอีกนานัปการ
เงินสำหรับการบริจาคและการแบ่งปัน Give Account (GIVE – 5%)
“เพราะการให้ คุณจึงได้รับ” เคยได้ยินวลีนี้ไหมคะ เราควรจัดสรรเงินบางส่วนเพื่อการเสียสละ เพื่อช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่าเรา จะได้รับความอิ่มเอมเปรมใจ อีกทั้งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าชีวิตของเรานี้ช่างมีความสุขที่เรามีทุกสิ่งทุกอย่างจนสามารถแบ่งปันแก่ผู้อื่นได้
และเนื่องจากว่า ทั้งยุ้ย ทั้งนุช อยู่ในแวดวงของการเป็นพนักงานมืออาชีพ ต่อจากนี้จึงขอเขียนมุ่งเน้นไปเฉพาะการออมส่วนของมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ แล้วยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงส่งท้ายปลายปี การออมเพื่อการลดหย่อนภาษีมีความจำเป็นอย่างมาก จึงอยากเขียนให้เพื่อน ๆ เข้าใจง่าย ๆ ว่าเราควรจะออมรูปแบบไหนดี
“TGIF” – Thanks God It’s Friday
ถ้าเห็นคำนี้แล้วร้องอ๋อ ก็คงพอเดา ได้ว่าคนอ่านคงเป็นยอดมนุษย์เงินเดือน ที่ยิ้มหวานทุกวันศุกร์ แล้วแอบเศร้าเล็กๆ ในวันจันทร์ แอบบ่นงึมงำว่างานหนัก แต่ก็สดชื่นทุกครั้งในวันเงินเดือนออก แล้วเมื่อมีงาน มีเงิน เรื่องที่ตามมาแบบเงาตามตัว คือ “ภาษี” ซึ่งบ้านเราใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้า ประมาณว่า เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็ปันไปให้รัฐพัฒนาบ้านเมืองได้มากขึ้นนั้นเอง ซึ่งอัตราภาษีตั้งแต่ 10% – 37% ตามตารางภาพด้านล่างเลยค่ะ
แต่รัฐเองก็ไม่ได้เอาแต่จะเก็บภาษีเข้าคลังนะ รัฐก็มีการลดหย่อนภาษีให้ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ เหมือนกัน เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็ขอแบ่งการลดหย่อนภาษีออกเป็น 4 หมวดหลักๆ ดังนี้ (รายละเอียดเพิ่มเติม www.rd.go.th)
“แล้วต้องลดหย่อนภาษีเท่าไรหละ จึงจะเพียงพอ” ถ้าตอบตรง ๆ เลย คือ ใช้สิทธิลดหย่อนในทุกหมวดให้เต็มที่ จะได้เสียภาษีให้น้อยที่สุด แต่สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่มีงบประมาณจำกัด ก็พิจารณาสำหรับเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดก่อน แล้วพยายามลดหย่อนเงินได้ในขั้นอัตราภาษีนั้นๆ เช่น ปีนี้มีรายได้รวม หมายถึง รายได้จากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะงานประจำ งานเสริม รางวัลต่างๆ รวมแล้ว 700,000 บาท ถ้าไม่ใช่ลดหย่อนอะไรเลย เงินได้ส่วน 500,000-700,000 บาท ที่จะต้องเสียภาษีอัตรา 20% เป็นภาษี 40,000 บาท เลยทีเดียว ถ้าเปรียบเทียบกับเงินได้ 500,000 บาทแรก ซึ่งจะเสียภาษีแค่ 35,000 บาท ดังนั้นพยายามหาสิทธิลดหย่อนให้ได้ 200,000 บาทเป็นอย่างน้อย ถ้าสามารถทำได้นะคะ ^^
เมื่อคำถามแรกผ่านไป คำถามฮิตต่อไปก็มา “จะใช้สิทธิลดหย่อนอะไรดี” สำหรับหมวดที่ 1 และ หมวดที่ 2 ก็แนะนำว่านำสิทธิลดหย่อนที่มีมาใช้ให้ครบถ้วน คงไม่กล้าแนะนำแบบที่เค้าชอบพูดเล่นว่าให้หาสามี/ภรรยา (ต้องไม่มีรายได้ด้วยนะ) หรือมีลูกซะ จะได้นำมาลดหย่อน เพราะบางครั้งมันยากกว่าการหาเงินจ่ายภาษีเองซะอีก
สำหรับหมวดที่ 3 การออมและประกันชีวิต น่าจะหมวดที่มีทางให้เลือกมากที่สุด ขอแบ่งหลักๆ ตามตารางนะคะ
ประเภท |
เงื่อนไข |
ลดหย่อนภาษี |
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF | ต้องถือครองกองทุนเป็นเวลา 5 ปีปฎิทินขึ้นไป | ไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาท |
กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF | ต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุ 55 ปี และลงทุนอย่างต่ำ 5 ปีเต็ม | ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และเมื่อรวมกับ ค่าเบี้ยประกันแบบบำนาญ, PF , กบข. ต้องไม่เกิน 500,000 บาท |
ประกันชีวิต | กรมธรรม์ที่มีระยะเวลาเอาประกันภัย 10 ปีขึ้นไป | ไม่เกิน 100,000 บาท |
ประกันชีวิตแบบบำนาญ | • กรมธรรม์ที่มีระยะเวลาเอาประกันภัย 10 ปีขึ้นไป• จ่ายเงินบำนาญ เมื่อผู้เอาประกันอายุ 55 ปีขึ้น และจ่ายต่อเนื่องไปจนอายุ 85 ปี• เป็นกรมธรรม์ที่ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์อื่นใด ก่อนได้รับเงินตอนอายุ 55 ปี ยกเว้นกรณีเสียชีวิต | ไม่เกิน 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ RMF, PF , กบข. ต้องไม่เกิน 500,000 บาท |
แล้วซื้อกองทุนหรือทำประกันดีหนอ ???? ถ้ามีเงินมากพอ เราก็ควรจะกระจายซื้อทั้ง LTF / RMF และประกันชีวิต แต่ถ้างบประมาณจำกัดหล่ะ ขอชวนให้คิดแบบนี้ว่า ถ้าเราเป็นหัวหน้าครอบครัว แล้ววันนี้เราทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้เข้าเลย เรามีเงินเก็บให้ครอบครัวใช้ไปอีกกี่ปี ถ้าตอบว่ามีเงินเก็บพอใช้มากกว่า 1 ปี ก็พอสบายใจ แต่ถ้าไม่ใช่นะ แนะนำเลยทำประกันชีวิตดีที่สุด ให้ได้ทุนประกันเท่ากับเงินที่ใช้ดูแลครอบครัว 1 ปีเป็นอย่างต่ำ ทำประกันแบบเน้นประกันชีวิตไม่เน้นผลตอบแทน พูดง่ายๆ คือ เสียชีวิตได้เงินประกันสูง อันนี้แบบว่าทำให้คนที่เรารัก เมื่อเราไม่อยู่ คนที่เรารักก็จะได้ไม่ลำบากมากนัก อันนี้สนับสนุนให้ทำเลย ยิ่งทำประกันตั้งแต่อายุน้อย เบี้ยที่เสียก็น้อยไปด้วย และประกันที่ดีควรคุ้มครองยาว ไม่ใช่หมดระยะประกันตอนเราอายุมาก และ อาจมีปัญหาเวลาจะต่ออายุกรมธรรม์เพราะปัญหาสุขภาพ ตัวอย่างแบบประกันชีวิตที่คุ้มครองยาวนาน (นานจริงจังถึงอายุ 99 ปีกันเลยทีเดียว)
แต่ถ้าเรามีเงินเก็บหรือประกันชีวิตพอเป็นหลักประกันให้คนที่เรารักแล้ว เราก็เริ่มมาเก็บออมแบบที่ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ไม่ว่าจะซื้อประกันชีวิตที่เน้นผลตอบแทน คือ มีเงินปันผล หรือ LTF ที่ให้ผลตอบแทนดีๆ
แต่ถ้าเราไม่มีครอบครัว ไม่มีลูกและอยู่เลยหลักสี่แล้ว RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี เราจะได้อุ่นใจยามเกษียณ เป็นผู้อาวุโสที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องรอง้อเงินชราภาพจากรัฐ
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องกองทุน LTF และ RMF ก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tsi-thailand.org และสำหรับการประกันชีวิตก็ขอแนะนำให้เลือกบริษัทที่มั่นคงและมีผลการดำเนินการที่ดีจะได้อยู่กับดูแลเราไปนาน ๆ
และสุดท้ายหมวดที่ 4 เงินบริจาค พอมาถึงหมวดนี้ก็ต้องขออนุโมทนาบุญร่วมกับผู้มีจิตใจดีทุกท่าน เมื่อเราทำดี รัฐก็สนับสนุน โดยให้นำเงินที่บริจาคสำหรับ การศึกษา การกีฬา และ บริจาคการกุศลสาธารณะ มาลดหย่อนภาษีได้ และที่สำคัญสำหรับเงินบริจาคเพื่อการศึกษานั้น จะได้รับการลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนหมวดต่างๆแล้ว อย่ารอช้า โอกาสสร้างบุญ พัฒนาชาติ และลดหย่อนภาษี 2 เท่า เข้าดูรายชื่อสถานศึกษาได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/28654.0.html ได้เลยค่ะ
ท้ายสุดขอทิ้งท้ายไว้ว่า การลดหย่อนภาษีเป็นวิธีของคนฉลาด แต่การเลี่ยงภาษีเป็นวิธีของคนที่เห็นแก่ตัว ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นถ้าคุณใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็มที่แล้ว ยังต้องเสียภาษีให้รัฐ ขอให้ภูมิใจว่าเราได้ทำหน้าที่ประชาชนที่ดีแล้วค่ะ ^__^
เกี่ยวกับผู้เขียน
![]() |
กานดา สุภาวศิน (ยุ้ย)
E-Business Development Manager Adecco Group Thailand อรุษา ศรีวัฒนา (นุช) Compensation & Benefit Section Manager Bangkok Synthetics Company Limited
|