
เพิ่งผ่านพ้นกันไปกับประสบการณ์ในการเป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับ @kafaak หลังจากที่ @vow_vow ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการร่วมมาโดยตลอด ได้ย้ายไปพำนักและปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ หน้าที่ความรับผิดชอบนี้จึงได้ตกมาที่เรา
สำหรับ NForum ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ Tech Start-up: Challenges of the Thai Way หรือถ้าจะให้แปลเป็นไทยตามแบบฉบับที่ @kafaak แปลไว้ก็คือ บริษัทเทคโนโลยีหน้าใหม่ กับ ความท้าทายแบบไทย ๆ ฟังเผิน ๆ ดูเหมือนไม่ได้ยากอะไร แต่พอโจทย์ที่ได้รับคือ มีการเชิญวิทยากรขึ้นเวทีมากถึง 9 คน ทำให้เราคิดหนักและพยายามซักซ้อมมากพอสมควรเพื่อให้สามารถควบคุมเวลาที่วิทยากรแต่ละคนจะพูด รวมทั้งการกระจายคำถามเพื่อให้ตอบได้เท่าเทียมกัน ถือว่าเป็นเวทีที่ได้ฝึกจริง ๆ
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับวิทยากรทั้ง 9 ท่านที่มีส่วนช่วยผลักดันวงการ Tech Startup ในไทย ดังนี้
1.คุณเอกราช คงสว่างวงศา
คุณเอกราชร่วมงานกับบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด มากว่า 10 ปี คลุกคลีอยู่ในวงการซอฟท์แวร์ และ สนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยมาโดยตลอด ผลงานที่ผ่านมาอาทิเช่น โครงการร่วมมือระหว่างซอฟต์แวร์ปาร์ค ซิป้า และไมโครซอฟต์สร้างนักพัฒนาที่มีประกาศนียบัตรภายในปีเดียวเกือบ 2,000 คน ซึ่งมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิกในขณะนั้น ด้วยผลงานการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ไทยเหล่านี้ ทำให้ทาง ซอฟต์แวร์ปาร์ค มอบรางวัล Hall of Fame ให้กับทางไมโครซอฟท์ ในปี 2009 ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติแห่งแรกที่ได้รางวัลนี้ และขณะนี้โฟกัสในเรื่องการช่วยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยในการย้ายระบบขึ้นไปบนคลาวด์แพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ หรือ Windows Azure (อา-ซัว) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Software Industry Development Manager – Microsoft Thailand และควบตำแหน่งเป็นกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
2.คุณธนพงษ์ ณ ระนอง
คุณธนพงษ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากศศินทร์ และมีประวัติการทำงานในการบริหารธุรกิจและการตลาดมาอย่างโชกโชน ทั้งตำแหน่งรองประธานฝ่าย Business Promotion and Development ของ Software Industry Promotion Agency หรือที่หลาย ๆ คนอาจรู้จักในชื่อย่อ SIPA, รองประธานฝ่ายการตลาดของ Thaicom จำกัด มหาชน ปัจจุบันคุณธนพงษ์ดำรงตำแหน่ง Head of New Business Team และ Head of InVent Venture Captical Project ของ Intouch
3.คุณปรัธนา ลีลพนัง
คุณปรัธนาจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรม สาขาไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบปริญญาโท Master of Science in Electrical Engineering และ Master of Science in System Science and Mathematics มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เคยดำรงตำแหน่ง Project Manager, Wireless Service Planing Manager และ ผู้อำนวยการส่วนงานตลาดบริการเสริม ของบริษัท Advance Info Service หรือ AIS ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานผลิตภัณฑ์และบริการดิจิตอล บริษัท Advance Info Service หรือ AIS
4.ดร.เจน จูฑา
ดร.เจนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและปริญญาเอกคณะบริหารธุรกิจจาก MIT เคยเป็นผู้บริหารบริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น และที่ปรึกษาให้กับองค์กรชั้นนำ อาทิ Intel, ITT Industries, IBM และ Verizon ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันท่านเป็นผู้ก่อตั้งและประธานของ The VC Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เสริมสร้างนวัตกรรมด้าน IT และ Online Services ภายใต้แนวคิดองค์กรว่าเป็น Innovator’s best friend หรือเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้คิดค้นนวัตกรรม โดยบริการครอบคลุมตั้งแต่ Cloud infrastructure, Cloud device, Big data engine, Telecom system ตลอดไปจนถึง Mobile application and service
5.คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ
คุณอรนุช หรือ คุณมิหมี (@mimee) จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารโทรคมนาคม และด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ มีประสบการณ์ทำงานในบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ และเวนเดอร์ต่างชาติกว่า 11 ปี ทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ การพัฒนาธุรกิจ นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและกองบรรณาธิการ thumbsup.in.th เว็บไซต์ข่าวและบทความธุรกิจดิจิตอลชั้นนำของไทย และเป็นสื่อสนับสนุน startup รายแรกๆของไทย ทั้งรายการทีวี Thailand Can Do และ Event Startup ชื่อ Start It Up Power It Up
และเมื่อเดือนที่ผ่านมาเธอได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยขึ้นเวทีพูดในหัวข้อ An Introduction to Thailand’s Startup Ecosystem ในงาน Startup Asia 2013 ที่สิงคโปร์ที่เราได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมฟังด้วย
6.คุณเรืองโรจน์ พูนผล
คุณเรืองโรจน์ หรือ คุณกระทิง จบ MBA จาก Stanford Universityทำงานที่ Google สำนักงานใหญ่ที่ Silicon Valley โดยทำการตลาดให้กับ Google Earth/Ocean/Moon/Mars ในตำแหน่ง Product Marketing Manager ( Global Lead ). จากนั้นท่านลาออกจาก Google เพื่อเปิดบริษัทของตัวเอง โดยสามารถระดมทุน กว่า 1.2 ล้านเหรียญ จาก Forbe’s Billionaire Angel Investor และสร้างผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย ก่อนที่จะกลับมาประเทศไทย เพื่อก่อตั้ง Disrupt University หลักสูตรการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เป็นโครงสร้างผสมผสานระหว่าง Idea Accelerator และ Experiential learning ที่นำการเรียนรู้ทางด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดีที่สุดจาก Silicon Valley มาสู่คนไทยที่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างผลิตภัณฑ์และบริษัท Startup ที่มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงและปฎิวัติอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมและประเทศ. และร่วมงานกับ ดีแทคในตำแน่ง Senior Vice President , Head of Products Division
7.คุณไผท ผดุงถิ่น
คุณไผท หรือ คุณโบ๊ท จบวิศวกรรมโยธาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านประสบการณ์การทำงานต่างๆอย่างมากมาย เกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง, เป็น Co-founder บริษัท ลองกอง สตูดิโอ จำกัด และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด ซึ่ง Builk.com ของคุณไผทนี้ ชนะรางวัลต่างๆ มามากมาย อาทิ รองชนะเลิศ รางวัลนวัตกรรมวานิชย์ครั้งที่ 1 โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช., รางวัลชนะเลิศ Thailand ICT Awards 2011 สาขา Industrial Applications, และล่าสุด ชนะเลิศในงาน Echelon 2012: Most Promising Startup
นอกจากนี้ก็เป็นวิทยากรพิเศษที่บรรยายให้กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย
8.คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์
คุณณัฐวุฒิ หรือ คุณหมู มีประสบการณ์ก่อตั้งและทำธุรกิจในสายงานเทคโนโลยีในเมืองไทยมากว่า 12 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัท Ookbee (www.ookbee.com) ซึ่งเป็นร้านหนังสือ e-Magazine และ e-Book ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 85% แอพพลิเคชั่นของ Ookbee ถูกดาวโหลดไปมากกว่า 4 ล้านครั้ง มีผู้ใช้งานมากกว่า 3 ล้านคน และมีผู้ใช้งานใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 คนต่อวัน จากการประสบความสำเร็จในครั้งนี้ Ookbee ได้ระดมทุนมูลค่า 58 ล้านบาท จาก Invent ซึ่งเป็น Venture Capital ในเครือ Intourch ด้วยมูลค่าบริษัทที่สูงกว่า 240 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจไปสู่ตลาดนอกประเทศ นอกจากนี้คุณหมูยังพัฒนาแอพพลิเคชั่นกว่าอีก 130 แอพ ซึ่งหาดาวน์โหลดได้ที่ AppStore
9.คุณพลเทพ เศรษฐีวรรณ
คุณพลเทพ หรือ คุณวินเซนต์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในปี 2009 สาขาการจัดการฐานข้อมูล และได้พัฒนาโปรเจคที่ดีที่สุดของเขาให้กลายเป็นธุรกิจ Startup ที่มีชื่อว่า start.mirror ที่ผสานเทคโนโลยี RFID เข้ากับร้านค้าปลีกเสื้อผ้า ในปี2019คุณพลเทพกลับมาที่ประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือกิจการในครอบครัว อาธิ กิจการส่งออกข้าว อสังหาริมทรัพย์ และไร่พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ด้วยความสนใจในการออกแบบและเทคโนโลยี จึงจุดประกายไอเดียของเขาและสร้างบริษัทของเขาเองสามบริษัท ได้แก่ GOOPA Inc, Charged Concept และ Launchpad ในช่วงปี 2011 และ 2012 ปัจจุบันท่านทุ่มเทกำลังให้กับธุรกิจ Startup ของตัวเองและมุ่งสรรสร้างพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการทำงานของ Startup ในประเทศไทย
เราและ @kafaak ได้เชิญวิทยากรทั้ง 9 ท่านนั่งบนเก้าอี้ที่จัดเตรียมไว้ด้านหน้า หลังจากนั้นก็ได้เวลาถามคำถาม ซึ่งจริง ๆ แล้ว คำถามที่ร่างไว้และที่มีการถามผ่าน Facebook เข้ามา รวมแล้วได้เกือบจะ30ข้อ แต่ด้วยเวลาเพียง2ชั่วโมง ก็คงไม่สามารถถามได้ทั้งหมด จึงได้ตัดเหลือ 12 ข้อเท่านั้น แต่พอเอาเข้าจริงได้รวบรัดตัดตอนเหลือเพียง 7 คำถามเนื่องจากเวลาไม่พอ และอยากให้วิทยากรทุกท่านได้มีโอกาสได้แชร์ประสบการณ์ ทั้งในมุมมองของ ผู้ประกอบการ Tech Startup, นักลงทุน และ สื่อฯ นับว่าเป็นการท้าทายของเราเหมือนกันในการพยายามควบคุมการพูด บรรยากาศในห้อง บทสรุปของแต่ละคนให้เป็นไปในทิศทางที่ใช่ ในเวลาที่จำกัด ทำให้ผู้เข้าร่วมฟังซึมซับความเป็น Startup สไตล์ไทย ๆ ได้อย่างไม่ซับซ้อน

โดยสรุป ใน2ชั่วโมงกว่ามีความประทับใจเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการสื่อสารกับ @kafaak ผ่าน Line เพื่อลดและสลับข้อคำถามเพื่อปรับให้เหมาะสมกับเวลาและโอกาส หรือแม้แต่การให้ความรู้ของวิทยากรทุกท่านที่ประทับใจผู้ฟังมาก ๆ ทุกคำพูดมีข้อคิดที่เฉียบคมและตรงประเด็น หากใครทำ Tech Startup อยู่แล้วไม่ได้มาฟังคงเสียดายไม่น้อย
ในท้ายที่สุดทุกคนเห็นชอบตรงกันว่า ในปี 2013 นี้ เป็นปีทองของ Tech Startup ไทยที่สามารถสร้างธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ ขอเพียงแค่มีไอเดีย ลงมือทำ ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ หาเม็ดเงินสนับสนุน บริหารและสร้างงานอย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงขนาดการขยายตัวทางธุรกิจถ้าหากมี User ใช้งานมากขึ้น รุ่นพี่ให้ความรู้สู่รุ่นน้อง จริงจังเรื่องการถ่ายทอดองก์ความรู้ในการนำเทคโนโลยีมาสร้างและต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ มองStartupด้วยกันเป็นเพื่อน ไม่ใช่ คู่แข่งทางธุรกิจ และสิ่งสำคัญที่สุดที่คนไทยยังขาดทักษะและควรฝึกฝนตนเอง คือ การใช้งานภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสร้างโอกาสให้ตัวเอง
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาเหล่านี้จะทำให้ Tech Startup ในไทยเจริญรุ่งเรืองเติบโตทัดเทียมหรือเหนือกว่าประเทศต่าง ๆ ในแถบอาเซียน..มาคอยลุ้ยกันค่ะว่าปีหน้า Trend Tech Startup จะยังคงฉายแววอยู่ต่อหรือไม่ และ ขออวยพรให้ Tech Startup ทุกท่านประสบแต่ความสำเร็จ ความเจริญตามที่มุ่งหวังทุกประการค่ะ ^__^
ข้อมูลเพิ่มเติม : บทสรุปข่าวการเสวนาโดย The Nation

